ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

go rogue and crowdsource คำฮิต

สื่อสหรัฐอเมริกามีความเห็นว่าคำกริยาที่ฮิตที่สุดในปี2008 คือ go rogue และ ในปี2009 ที่ผ่านไปคือ crowdsource ความหมายของสองคำนี้มีนัยสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกไม่น้อย
International Herald Tribune ฉบับ 29 ธันวาคม 2009 ระบุว่าโลโกของปี2008เป็นของผู้แข่งขันประธานาธิบดีโอบามา โดยเป็นรูปวงแหวนที่ครึ่งล่างเป็นลายคล้ายถนนพาดไปทางขวา ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลง สำหรับปี2009 เป็นของ citi (ธนาคาร Citibank ของสหรัฐอเมริกา) เป็นแถบดำพาดลงมาเหมือนลักษณะของรุ้งอยู่เหนือคำว่า citi เข้าใจว่าสื่อถึง
ความหวัง
Go Rougue เป็นศัพท์อเมริกันมี2 ความหมายคือ (1) เลิกที่จะทำตามคำสั่ง โดยทำตามความปรารถนาของตนเอง โดยมีนัยยะว่ากระทำตรงข้ามการคาดหวังหรือคำสั่ง (2) แกล้งเป็นอย่างอื่นโดยไม่พูดความจริงหรือหลอกลวงให้เข้าใจผิด เข้าใจว่าคำนี้ดังขึ้นมาจากการที่Sarah Palin อดีตผู้แข่งขันเป็นรองประธานาธิบดีของรีพับลิกันคู่กับ McCain เขียนหนังสือบันทึกความจำของเธอเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วชื่อ Going Rogue โดยเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังการแพ้อย่างยับเยินในครั้งนั้น เธอเล่าว่าทีมของ McCain สั่งให้เธอแต่งตัวสไตล์ใหม่ แต่งหน้าแบบใหม่ และพูดตามสคริปต์จนเธอไม่เป็นตัวของตัวเอง เธออ้างว่าจากการเป็นผู้ว่าการรัฐอลาสกาที่ผู้คนในรัฐชื่นชมกลายเป็นตัวตลกชนิดขวาตกขอบ ดังนั้นในตอนท้าย ๆ เธอจึงไม่ยอม (เธอ go rogue)เธอประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มนี้ว่าจะ go rogue โดยแท้(rogue หมายถึง คนเกเร กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ดังเช่นการเป็น rogue state ของบางประเทศ) กล่าวคือเปิดเผยแบบไม่ไว้หน้ากัน
สำหรับคำ Crowdsource (CS) นั้นดูจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเรามากกว่า Go Rogue คำ outsource นั้น เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง หมายถึงการจ้างให้คนอื่นมาทำงานขององค์กรของตน แทนที่จะทำเองภายในองค์กร เช่น จ้างคนนอกมาประเมินโครงสร้างเงินเดือนจ้างคนนอกมาตรวจสอบการเงิน จ้างคนนอกมาเขียนซอฟต์แวร์ โปรแกรมให้ ฯลฯ
CS คล้ายกัน คือ ให้คนอื่นรับงานไปทำแทนคนใน เพียงแต่ผู้รับไปทำนั้นเป็นกลุ่มหรือชุมชน (crowd) โดยเปิดกว้างให้คนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งได้รับและไม่ได้รับผลตอบแทนหลังเหตุการณ์9-11 ไม่นาน ภาครัฐของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการแปลเอกสาร ภาษาอาหรับที่มีอยู่มากมาย จึงมีความจำเป็นให้คนทั่วไปได้ร่วมเป็นผู้แปลเพื่อสู้กับการก่อการร้าย วิธีการนี้ได้ทำอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะเลิกไปเพราะกลัวว่าจะเป็น “เอกสารหลุด” อีกทั้งมีการแปลผิดจนอาจทำความเสียหายได้ จะเห็นได้ว่าการขอความช่วยเหลือจากชาวโลกเช่นนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งของ CS
CS ได้รับความนิยมกว้างขวางมากขึ้นทุกทีใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าในวงการธุรกิจ นักเขียน สื่อมวลชน ธุรกิจ IT การสื่อสาร ฯลฯ เพราะสอดคล้องกับความร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ภายใต้เทคโนโลยีWeb2.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า Web1.0 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในการใช้อินเตอร์เน็ต Web2.0 จะช่วยให้การใช้อินเตอร์เน็ตสะดวกรวดเร็วกว่าเดิมเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นหาข้อมูล เช่น ค้นหาได้พร้อมกันจาก 2 แหล่งข้อมูลและสามารถเอา 2 แหล่งข้อมูลมาประสานกันในการค้นหาที่กว้างขวางขึ้น
CS ที่รู้จักกันมากที่สุดอันหนึ่งในปัจจุบันก็คือ wikipedia หรือเว็บไซต์สำหรับค้นหาสารพัดข้อมูลชนิดฟรี ปัจจุบันมีนับเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ หน้าซึ่งมาจากความช่วยเหลือร่วมส่งข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ เข้ามาโดยคนทั่วโลกโดยไม่มีการว่าจ้าง (wikipedia.org ปัจจุบันนั้นมีเป็นภาษาไทยด้วย)ในปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากในโลกตะวันตกที่ตั้งโจทย์คำถามเกี่ยวกับธุรกิจของตน
ออนไลน์อย่างเปิดเผย เพื่อให้ผู้รู้จำนวนมากในโลกซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนกันบ้างช่วยคิดและตอบ ก็ปรากฏว่ามีผู้ตอบเข้ามามากมายและบริษัทก็เลือกคำตอบที่คิดว่าดีที่สุดไปใช้ ผู้ตอบบางครั้งก็ได้รางวัลบ่อยครั้งได้เพียงคำชื่นชมและใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการสมัครงานต่อไปได้
ผู้ตอบก็มีทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น ซึ่งเข้ามาให้คำตอบด้วยความมันส์ในอารมณ์เพื่อแสดงความมีมันสมองเหนือคนอื่น เพื่อให้รู้ว่าตนเองมีกึ๋น เพื่อชื่อเสียงของกลุ่มคนหรือตนเอง ฯลฯเรียกได้ว่าในปัจจุบัน CS เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ และธุรกิจที่ทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรสูงสุด ขอยกตัวอย่าง CS ที่ได้เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
(1) ระหว่างปี2008-2002 เมือง Salt Take City ทดลองใช้CS ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนขนส่ง โดยให้ประชาชนร่วมให้คำตอบอย่างกว้างขวางออนไลน์
(2) หนังสือพิมพ์The Guardian ของอังกฤษ ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการฉ้อฉลของนักการเมือง ในกรณีอื้อฉาว MP Expense Scandal (ส.ส. เบิกเงินหลวงกันสนุกมือซึ่งนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษก็โดนเข้าไปเต็ม ๆ ด้วย) โดยสร้างระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมตรวจสอบเอกสารการเบิกเงินของ ส.ส. รวมกว่า 700,000 ฉบับออนไลน์ว่ามีฉบับใดผิดปกติบ้าง ปรากฏว่ามีประชาชนกว่า 20,000 คนเข้าร่วม
(3) Family Search Indexing สร้างโครงการให้ผู้มีจิตอาสาทั่วโลกเข้าร่วมในโครงการสร้างดรรชนีดิจิตอลของเอกสารประวัติศาสตร์รวม 2.4 ล้านชิ้น ซึ่งอยู่ในรูปของไมโครฟิล์ม เอกสารประวัติศาสตร์เหล่านี้มาจาก 110 ประเทศในหลายภาษา ผู้เข้าร่วมดาวน์โหลดซอฟต์แวร์โปรแกรมลงบนคอมพิวเตอร์ที่บ้านเพื่อรับเอกสารมาอ่าน และพิมพ์สรุปเนื้อหาและหัวเรื่องของเอกสาร และส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่ ข้อมูลที่เสร็จครบถ้วนจะเปิดเผยต่อสาธารณชนและให้ดาวน์โหลดฟรี ถ้าไม่มีCS ก็ต้องใช้เวลานับสิบปี เสียเงินเป็นสิบ ๆ ล้านเหรียญ แต่ด้วยความร่วมมือผ่าน CS ทุกสิ่งเป็นไปได้ด้วยต้นทุนน้อยที่สุด
(4) Test Bug Battle เป็นการแข่งขันซอฟต์แวร์ปีละ 4 ครั้งของสหรัฐอเมริกานักซอฟต์แวร์ทั่วโลกแบ่งกันส่งคำตอบเพื่อรับรางวัล หัวใจก็คือแข่งกันหาข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ไม่สมบูรณ์(Bugs) ของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โปรแกรมสำเร็จรูปของโทรศัพท์มือถือ ของเว็บไซต์ของเกมส์ ฯลฯ ครั้งแรกแข่งกันในปลายปี2008 มีผู้แข่งพันกว่าคนพบ Bugs ใน Google Chrome/
Internet Explorer Mozilla Firefox ฯลฯ ครั้งที่สองพันกว่าคนในเดือนมีนาคม ปี2009 แข่งกันหาBugs ใน Facebook/ My Space LinkedIn ฯลฯ
CS ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าในการทำให้สิ่งที่ใช้กันทั่วโลกสมบูรณ์ขึ้นโดยแทบไม่มีค่าใช้จ่าย (ผู้ร่วมมักได้“กล่อง” แทน “เงิน” ) ตัวอย่าง CS มีอีกมากมาย ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดได้จากโครงการต่อไปนี้Philooptima/ InnoCentive/ Galaxy Zoo/ Netflix Prize/Emporis/ Design Bay 99 Designs ฯลฯในปัจจุบันที่โลกมีความโยงใยเชื่อมต่อพึ่งพากัน (Interdependence) อย่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ Crowdsource เป็นทั้งหลักฐานของปรากฏการณ์นี้และเป็นเครื่องมือ
สำคัญในการสร้างประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ทั้งในเชิงการค้าและสวัสดิการสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น